วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

                                              ประวัติของปลากัด
                                        
            ปลากัด  มีชื่อสามัญว่า  Siamese  Fighting  Fish   เป็นปลาสวยงามที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมานานแล้ว   เนื่องจากเป็นปลาสวยงามที่นอกจากจะมีสีสันสดเข้มสวยงามสะดุดตามากแล้ว   ยังเป็นปลาที่จัดว่าเป็นยอดนักสู้ตัวฉกาจอย่างยิ่ง   โดยเฉพาะปลากัดที่ไปจากประเทศไทยจัดว่าเป็นปลาที่กัดเก่งและมีความทรหดมากที่สุด   ทำให้ได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆทั่วโลก   ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงปลากัดมานานแล้ว   และได้เน้นเป็นการเลี้ยงเพื่อเกมกีฬาโดยเฉพาะมีการจัดตั้งเป็นบ่อนการพนัน   ทางราชการจะมีการอนุญาตให้เปิดสถานที่สำหรับเดิมพันการกัดปลา   เรียก  บ่อนปลากัด  หรือ  บ่อนกัดปลา   มาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน
                การเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามมักนิยมเลี้ยงในขวดหรือโหลขนาดเล็ก   ไม่นิยมเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น   เพราะเป็นปลาที่ชอบสร้างอาณาเขตและมักจะไล่กัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน   ซึ่งในช่วงนี้ปลาจะมีสีสดเข้มสวยงาม   แต่ถ้านำไปเลี้ยงกับปลาขนาดใหญ่ปลาจะตื่นตกใจ  เหมือนกับการแพ้คู่ต่อสู้   ในช่วงนี้ปลาก็จะสีซีดดูไม่สวยงาม   จึงจำเป็นต้องเลี้ยงปลากัดไว้เพียงตัวเดียวในภาชนะที่ไม่ใหญ่มากนัก   ปลาก็จะมีความรู้สึกว่าสามารถสร้างอาณาเขตของตัวเองไว้ได้ก็จะมีสีสันสดใสสวยงาม   จัดว่าเป็นปลาที่ติดตลาด   ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ   สามารถจำหน่ายได้ดีตลอดปี   โดยเฉพาะเด็กจะชอบหาซื้อปลากัดไปเลี้ยง   เพื่อนำไปกัดแข่งขันกัน   แล้วก็หาซื้อปลาตัวใหม่อยู่เสมอ
          ปลากัดเป็นปลาพื้นบ้านของไทย  ในธรรมชาติชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง  เช่น หนอง   บึง   หรือชายทุ่งนา   โดยมักพบตามชายฝั่งที่ตื้นๆและมีพรรณไม้น้ำมาก   เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวก Labyrinth  Fish   ได้แก่  พวกปลากระดี่ทั้งหลาย   ซึ่งเป็นกลุ่มปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ   ทำให้ปลาอาศัยอยู่ในที่มีออกซิเจนต่ำได้   จึงทำให้สามารถเลี้ยงปลากัดในขวดต่างๆที่มีปากขวดแคบๆได้   ปลากัดจัดว่าเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร   โดยจะชอบกินแมลงและตัวอ่อนของแมลงต่างๆ (Insectivores)        

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ลักษณะรูปร่างของปลากัด

ปลากัดจัดเป็นปลาขนาดเล็ก     ลำตัวมีความยาวประมาณ  5 - 7  เซนติเมตร   ลักษณะลำตัวเรียวยาว   แบนข้าง   ปากมีขนาดเล็กเชิดขึ้นด้านบนเล็กน้อย   ส่วนหัวมีเกล็ดปกคลุม   ครีบก้นมีฐานครีบค่อนข้างยาว   มีจำนวนก้านครีบ  23 - 26 อัน   ครีบท้องเล็กยาว   สีของลำตัวเป็นสีเทาแกมดำ   สีของครีบและเกล็ดบริเวณใกล้ครีบจะเป็นสีสดเข้มสีใดสีหนึ่งทั้งตัว   เช่น  ปลากัดสีแดง   จะมีครีบทุกครีบและเกล็ดที่อยู่ใกล้ครีบเป็นสีแดงทั้งหมด




ลักษณะพันธุ์ของปลากัด     
                ปลากัดที่มีเพาะเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน   มีหลายสายพันธุ์ดังนี้

               1 ปลากัดลูกหม้อ   มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น   ส่วนหัวค่อนข้างโต   ปากใหญ่   ครีบสั้นสีเข้ม   เดิมมักจะเป็นสีเขียว   หรือสีน้ำเงินแกมแดง   แต่ปัจจุบันมีหลายสี   เช่นสีแดง   สีน้ำเงิน   สีม่วง   สีเขียว   และสีนาก   เป็นชนิดที่มีความอดทน   กัดเก่ง   ได้รับความนิยมสำหรับการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบสั้น
.                 
ภาพที ่ 6  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดลูกหม้อ

.
                  2 ปลากัดลูกทุ่ง   มีลักษณะลำตัวเล็กกว่าพันธุ์ลูกหม้อ   ลำตัวค่อนข้างยาว   ครีบยาวปานกลางหรือยาวกว่าพันธุ์ลูกหม้อเล็กน้อย   สีไม่เข้มมากนัก   ส่วนมากมักจะเป็นสีแดงแกมเขียว   เป็นพันธุ์ที่มีความตื่นตกใจได้ง่ายที่สุด   การกัดจะมีความว่องไวมากกว่าพันธุ์ลูกหม้อ   ปากคม   แต่ไม่ค่อยมีความอดทน   ใช้เวลาประมาณ  30  นาทีจะรู้ผลแพ้ชนะ   นิยมใช้ในวงการกัดพนันเช่นกัน
.
  
ภาพที่ 7  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดลูกทุ่ง 
.
               3 ปลากัดลูกผสม   หรือพันธุ์สังกะสี   หรือพันธุ์ลูกตะกั่ว   ป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง   โดยอาจผสมระหว่างพ่อเป็นปลาลูกหม้อกับแม่เป็นปลาลูกทุ่ง   หรือพ่อเป็นปลาลูกทุ่งกับแม่เป็นปลาลูกหม้อ   ได้ทั้งสองแบบ   ผู้เพาะต้องการให้ปลาลูกผสมที่ได้มีลักษณะปากคม   กัดคล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง   และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ โดยพยายามคัดปลาที่มีลักษณะลำตัวเป็นปลาลูกทุ่ง เพราะเมื่อนำไปกัดกับปลาลูกทุ่งแท้ ๆ ปลาลูกผสมนี้จะกัดทนกว่าปลาลูกทุ่ง  

                 4 ปลากัดจีน   เป็นปลากัดที่เกิดจากการเพาะและคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นเพื่อความสวยงาม   พยายามคัดพันธุ์เพื่อให้ปลามีหางยาวและสีสันสดเข้ม   จนในปัจจุบันสามารถผลิตปลากัดจีนที่มีความสวยงามอย่างมาก   มีครีบต่างๆค่อนข้างยาว   โดยเฉพาะครีบหางจะยาวมากเป็นพิเศษและมีรูปทรงหลายแบบ   มีสีสันสดสวยมากมายหลายสี   เป็นปลาที่ไม่ค่อยตื่นตกใจเช่นเดียวกับปลาหม้อ   แต่ไม่มีความอดทน   เมื่อปล่อยกัดกันมักรู้ผลแพ้ชนะภายใน  10  นาที   ไม่นิยมใช้ในการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบยาว
 
ภาพที่ 8  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดจีน  
.

               ปัจจุบันผู้เพาะพันธุ์ปลากัดสามารถเพาะพันธุ์ปลากัดสายพันธุ์ใหม่ๆออกมาอีกหลายสายพันธุ์  และมีความหลากหลายทางด้านสีสันอีกด้วย  ทำให้มีการเรียกชื่อสายพันธุ์ปลากัดเพิ่มขึ้นอีกมากมาย  ได้แก่  ปลากัดครีบสั้น(ปลากัดหม้อ)สีเดียว  ปลากัดครีบยาว(ปลากัดจีน)สีแฟนซี  ปลากัดสองหาง (Double Tail)   ปลากัดหางหนามมงกุฎ (Crown Tail)  ปลากัดหางพระจันทร์ (Halfmoon) เป็นต้น
 
ภาพที่ 9  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดครีบสั้นสีเดียว
.
   








 
ภาพที่ 10  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดครีบยาวสีแฟนซี
                                             
 
ภาพที่ 11  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดสองหาง (Double Tail)

 
ภาพที่ 12  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดหางหนามมงกุฏ (Crown Tail)
.

ภาพที่ 13  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดหางพระจันทร์ (Halfmoon)





วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การเพาะพันธุ์ปลากัด      
                การเพาะพันธุ์ปลากัดดำเนินได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
          1 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์   ปลากัดจะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ  4 - 6  เดือน   สามารถนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้   การเลือกปลาเพศผู้ควรเลือกปลาที่คึกคะนอง  คือ  เมื่อนำปลาดังกล่าวไปใกล้กับปลาเพศผู้ตัวอื่น   ก็จะแสดงอาการก้าวร้าวทันที   โดยจะกางกระพุ้งแก้มและกางครีบ  รี่เข้าหาปลาตัวอื่นทันทีพร้อมที่จะกัด   หรืออาจสังเกตจากการสร้างหวอดก็ได้   เพราะปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์เพศและพร้อมจะผสมพันธุ์   มักจะสร้างหวอดในภาชนะที่เลี้ยงเสมอ   สำหรับปลาเพศเมียควรเลือกปลาที่มีท้องแก่  คือมีไข่แก่เต็มที่   โดยสังเกตได้จากส่วนท้องของปลา   ซึ่งจะขยายตัวพองออกอย่างชัดเจน   และเมื่อลองให้อดอาหารเป็นเวลา  1  วัน   ส่วนท้องก็ยังคงขยายอยู่เช่นเดิม   นำแม่ปลาที่เลือกได้ไปใส่ขวดแล้วนำไปวางเทียบกับปลาเพศผู้   เมื่อปลาเพศผู้แสดงอาการเกี้ยวพาราสี   ปลาเพศเมียที่ท้องแก่จะเกิดลายสีขาวแกมเหลืองพาดจากส่วนหลังลงไปทางส่วนท้อง  จำนวน 4 - 6 แถบ ในเรื่องสีสันของปลานั้นสามารถเลือกได้ตามความชอบของผู้ดำเนินการ  เพราะปลาสีต่างกันสามารถผสมกันได้       
2 การเทียบพ่อแม่พันธุ์   เมื่อเลือกได้ปลาเพศผู้และเพศเมีย   ที่สมบูรณ์มีลักษณะและสีสันตามต้องการแล้ว   นำปลาใส่ขวดแก้วใสขวดละตัวแยกเพศกันไว้ก่อน   แล้วนำมาตั้งเทียบกันไว้   โดยการวางขวดใส่ปลาให้ชิดกันและไม่ต้อมีกระดาษปิดคั่น   ต้องการปล่อยให้ปลามองเห็นกัน   ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การเทียบ”   ควรเทียบไว้นานประมาณ  4 - 7  วัน   เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินซึ่งกันและกัน   เมื่อปล่อยลงบ่อเพาะแม่ปลาจะไม่ถูกพ่อปลาทำร้ายมากนัก   ในขณะเดียวกันแม่ปลาก็จะมีไข่แก่เต็มที่
3 การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์   บ่อหรือภาชนะที่จะใช้เป็นบ่อเพาะปลากัดควรมีขนาดเล็ก   ส่วนมากนิยมใช้ภาชนะต่างๆไม่มีบ่อถาวร  เช่น  อ่างดินเผา   กะละมัง   ถัง   หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก   เพราะสะดวกกว่าการเพาะในบ่อ   ภาชนะดังกล่าวมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  30 - 40  เซนติเมตร  ใส่น้ำสะอาดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ให้มีระดับสูงประมาณ 10 - 15  เซนติเมตร  จากนั้นใส่พันธุ์ไม้น้ำที่มีใบหรือลำต้นอยู่ผิวน้ำ   เช่น  จอก   ผักตบชวา   ผักบุ้ง   หรือผักกระเฉด  ลงไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ปลาสร้างหวอดได้ง่าย  
        
4 การปล่อยปลาลงบ่อเพาะ   เมื่อเทียบปลาไว้เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยปลาทั้งคู่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้   ต้องพยายามอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก   จากนั้นหาแผ่นวัสดุ  เช่น  กระดาษแข็ง   หรือแผ่นกระเบื้อง   ปิดบนภาชนะที่ใช้เพาะ   โดยปิดไว้ประมาณ  2  ใน  3  ของพื้นที่ปากภาชนะ   เพราะปลากัดมักชอบวางไข่ในบริเวณที่มืด   เนื่องจากต้องการความเงียบสงบ   วัสดุที่นำมาปิดจะสามารถช่วยบังแสงและกันลมไม่ให้หวอดของปลาแตก   เทคนิคที่สำคัญคือ   การปล่อยพ่อแม่ปลาควรปล่อยในตอนเย็น   เวลาประมาณ  17.00 - 18.00  .   เพราะโดยปกติแล้วเมื่อปล่อยพ่อแม่ปลารวมกัน   ปลาเพศผู้จะเกี้ยวพาราสีปลาเพศเมีย   โดยว่ายน้ำต้อนหน้าต้อนหลังอยู่ประมาณ  15  นาที   จากนั้นจะไล่กัดปลาเพศเมียจนปลาเพศเมียจะต้องหนีไปแอบซุกอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำ    แล้วปลาเพศผู้จะเริ่มหาที่ก่อหวอด   เมื่อก่อหวอดไปพักหนึ่งก็จะไปไล่กัดปลาเพศเมียอีก   ดังนั้นหากปล่อยปลาทั้งคู่ตั้งแต่เช้าปลาเพศเมียก็จะถูกกัดค่อนข้างบอบช้ำ   แต่ถ้าปล่อยใกล้ค่ำเมื่อปลาเพศผู้หาจุดสร้างรังได้ก็จะค่ำพอดี   ปลาเพศผู้จะไม่ไปรบกวนปลาเพศเมียอีก   แต่จะสร้างรังไปจนเรียบร้อย   รุ่งเช้าก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้

.